
คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.)
ตัวแทนคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในหน่วยงาน (คปอ.) เกิดจากการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กร ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีหน้าที่ในการพิจารณานโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน รายงาน และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และตรวจสอบสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น วางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้างทุกคนทุกระดับต้องปฏิบัติ รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เป็นต้น โดยสถานประกอบกิจการควรมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ กฎกระทรวงบริหารการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานของสถานประกอบกิจการ และได้แบ่งจำนวนของคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ตามจำนวนลูกจ้าง ดังนี้
1. สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50-99 คนให้มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วย
- นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเป็นประธาน
- ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา 1 คนเป็นกรรมการ
- ผู้แทนลูกจ้าง 2 คนเป็นกรรมการ
- จป.เทคนิคขั้นสูงหรือ จป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ
2. สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100-499 คน ให้มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 7 คน ประกอบด้วย
- นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเป็นประธาน
- ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา 2 คนเป็นกรรมการ
- ผู้แทนลูกจ้าง 3 คนเป็นกรรมการ
- จป.เทคนิคขั้นสูงหรือจป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ
3. สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ให้มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 11 คน ประกอบด้วย
- นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเป็นประธาน
- ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา 4 คนเป็นกรรมการ
- ผู้แทนลูกจ้าง 5 คนเป็นกรรมการ
- จป.เทคนิคขั้นสูงหรือจป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยกรรมการมีวาระ 2 ปี และหากคณะกรรมการมีมากกว่าขั้นต่ำ ให้เพิ่มกรรมการจากผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างในสัดส่วนที่เท่ากันซึ่งในแต่ละตำแหน่งนั้นสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- ประธานกรรมการ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นายจ้างสามารถแต่งตั้งได้เลย
- ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จะต้องมีการเลือกตั้งให้เป็นตามกฎหมายกำหนด
- เลขานุการที่เป็น จป.วิชาชีพหรือ จป.เทคนิคขั้นสูง นายจ้างสามารถแต่งตั้งได้ตามความเหมาะสม กรณีไม่มี จป.วิชาชีพหรือ จป.เทคนิคขั้นสูง ให้นายจ้างแต่งตั้งผู้แทนนายจ้างมาเป็น
หน้าที่ของ คปอ.11 ข้อ
1. พิจารณานโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งความปลอดภัยนอกงาน เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงาน หรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
2. รายงานและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
3. ส่งเสริมสนับสนุน กิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถาประกอบกิจการ
4. พิจารณาข้อบังคับและคู่มือตามข้อ 3 รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถาประกอบกิจการเสนอต่อนายจ้าง
5. สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และตรวจสอบสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
6. พิจารณาโครงการหรือแผนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานรวมถึงโครงการหรือแผนการอบรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของลูกจ้าง หัวหน้างาน ผู้บริหาร นายจ้าง และบุคลากรทุกระดับเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
7. วางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้างทุกคนทุกระดับต้องปฏิบัติ
8. ติดตามผลความคืบหน้าเรื่องที่เสนอนายจ้าง
9. รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งระบุปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปี เพื่อเสนอต่อนายจ้าง
10. ประเมิณผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
11.ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย